Search
Close this search box.

our school philosophy

ประวัติความเป็นมา

ประวัติของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา ศึกษาศาสตร์

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) เดิมชื่อ “โรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2513 โดย  ดร.สายสุรี  จุติกุล คณบดีคนแรกของคณะศึกษาศาสตร์ เนื่องจากโรงเรียนสาธิตเป็นโรงเรียนที่ทดลองหลักวิชาการต่าง ๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนเหมือนโรงเรียนทั่วไป จึงตั้งขึ้นด้วยความเชื่อที่เป็นหลักในการจัดการเรียนการสอน

วิสัยทัศน์ของโรงเรียน (VISION)

โรงเรียนชั้นนำด้านนวัตกรรมการศึกษา ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์และเป็นนวัตกร

พันธกิจของโรงเรียน (MISSIONS)

1. จัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถเต็มตามศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์
มีคุณธรรม จริยธรรมและมีความเป็นพลโลก

2. วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

IMG_8059

3. บริการวิชาการที่เน้นการเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูให้กับนักศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานอื่นๆ

ค่านิยมหลักของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น


S Student and customer-centered Excellence
P Valuing People
I Innovation Management
R Societal Responsibility
I Integrity Mindset
T Team Work

ปรัชญาโรงเรียนของเรา

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นยึดถือแนวความเชื่อที่กล่าวว่า “มนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาได้ เจริญงอกงามได้ด้วยการศึกษาและเคารพในคุณค่าของความแตกต่างระหว่างบุคคล” 

ดังนั้นการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า จะต้องเริ่มที่การให้การศึกษาแก่ประชาชนโดยจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาความแตกต่างระหว่างบุคคลพร้อมทั้งเชื่อว่าการพัฒนาการศึกษาที่ดีที่สุดคือ “การพัฒนาให้ประชาชนรักการศึกษาคันคว้าตัวยตนเองตลอดชีวิต”

อัตลักษณ์

สร้างสรรค์วัตกรรม นำเทคโนโลยี มีคุณธรรม

เอกลักษณ์

เป็นสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต นวัตกรรมเด่น เน้นเทคโนโลยี

หลักในการจัดการเรียนการสอน

1. โรงเรียนเป็นสถานที่ให้ความรู้ด้านวิชาการและต้องทำหน้าที่หลักของการอบรมบ่มนิสัยให้เด็กเป็นคนดี

มีหน้าที่ช่วยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม โรงเรียนสาธิตเป็นสถาบันสังคมแห่งที่สองของชีวิตคน ดังนั้น โรงเรียนสาธิตระดับอนุบาลและระดับประถมจึงยังคงมีบรรยากาศของความรัก ความอบอุ่น ความใกล้ชิด คล้ายคลึงกับบ้าน เพื่อให้เด็กค่อย ๆ ปรับตัว สามารถลดการพึ่งพาผู้อื่นไปตามระดับอายุที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด ร่มรื่น สวยงามจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจและสร้างความสุนทรีย์ในใจเด็กได้ โรงเรียนของเราจึงมีการก่อสร้างเหมือนบ้านหลังเล็ก ๆ ซึ่งเราเรียกกันว่า “ยูนิทหรือหน่วย” ชั้นหนึ่งก็เป็นยูนิทหนึ่ง ภายในมีห้องน้ำห้องสุขา มีบริเวณมุมหนังสือและมุมกิจกรรมต่าง ๆ สร้างบรรยากาศให้อยากเรียนรู้ ยูนิทเหล่านี้เรียงรายลดหลั่นกลมกลืนกับพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่พยายามดูแลให้สวยงามอยู่เสมอ

2. บุคคลมีความแตกต่างกัน เช่น ความสนใจ ความถนัด ความสามารถ

ความแตกต่างที่หลากหลายเหล่านี้ เมื่อมารวมประกอบเข้าด้วยกัน จะสร้างสรรค์สังคม สร้างสรรค์โลก ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันในความแตกต่างเหล่านี้อย่างมีความสุข โรงเรียนจึงใช้วิธีการจัดเรียนการสอนที่หลากหลาย ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองจากกิจกรรมต่าง ๆ กำหนดการเรียนการสอนตามลำดับ ไม่กำหนดการสอบปลายปีในลักษณะสอบได้สอบตก แต่มีการประเมินทุกวิชาที่เรียนและส่งเสริมให้นักเรียนแต่ละคนเรียนไปตามความสามารถของตนเอง เช่น บางคนเรียนยูนิทเอ แต่เก่งคณิตศาสตร์ สามารถข้ามไปเรียนคณิตศาสตร์ของยูนิทบีได้และยังมีการฝึกวินัยตนเองเพื่อการอยู่ร่วมกันตลอดจนมีน้ำใจซึ่งกันและกัน

3. การประเมินผลการเรียนของนักเรียน ต้องประเมินพัฒนาการทุกด้าน

ไม่ใช่ประเมินเพียงด้านวิชาการและการประเมินผลที่มี จุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้การพัฒนาของเด็กเป็นไปด้วยดีและราบรื่น โรงเรียนจึงมีระบบการประเมินผลที่ผู้ปกครองต้องมารับทราบรับรู้ร่วมปรึกษากับครูในจุดต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ลูกหลานพัฒนาไปด้วยดี โดยประเมินพัฒนาการด้านอารมณ์ สังคม ความรับผิดชอบ ไม่เพียงแต่ประเมินเฉพาะด้านวิชาการเท่านั้น ซึ่งต่อมาหลักสูตรประถมศึกษาทั่วประเทศก็ได้ใช้หลักการนี้เช่นกันในคราวประกาศใช้หลักสูตร พ.ศ.2521 การจัดการเรียนการสอนในสภาพดังกล่าว ผู้เยี่ยมชมโรงเรียนหลายคนให้ความเห็นว่าโรงเรียนของเราเหมือนโรงเรียนสมัยโบราณที่นักเรียนไม่ต้องถูกจำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมนั่งโต๊ะที่เรียงเป็นแถว แต่เรียนกันบนศาลาวัด จะลุกนั่งไปเรียนไปเขียนที่ไหนก็ได้ พระก็จะสอนต่อหนังสือให้เป็นรายบุคคล ใครเรียนถึงไหนก็ต่อกันไป ไม่จำเป็นต้องเปิดหนังสือเรียนหน้าเดียวกัน ปิดหนังสือจบหน้าเดียวกัน ลูกศิษย์วัดคนใด หน่วยก้านไปทางใด พระก็จะแนะนำหรือสอนเพิ่มเติมให้ในแนวทางนั้น เล่าขานกันมาว่าผู้ที่เปรียบเทียบโรงเรียนสาธิตเหมือนศาลาวัด คือ ศาสตราจารย์ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ทางโรงเรียนจึงได้นำคำนั้นมาใช้เรียกระบบการจัดการเรียนการสอนของเราว่าเป็นระบบ “ศาลาวัด”

กาลเวลาที่ผ่านมาโรงเรียนสาธิตได้ปรับเปลี่ยนไปบ้างแต่หลักการส่วนใหญ่ของเรายังคงอยู่ เช่น การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น
การให้อิสระเสรีกับนักเรียนในกรอบเพื่อสร้างวินัยในตนเอง การใช้วิธีการสอนและการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ตลอดจนการประเมินผล
ที่เน้นการพัฒนาทุกด้าน ต่อมาพบว่าในกลุ่มเด็กอายุวัยเดียวกัน ความแตกต่างไม่ห่างไกลกัน และการรอให้เด็กเรียนไปตามความสามารถของแต่ละบุคคลโดยใช้เวลาตัดสินถึง 6 ปี ยาวเกินไปจึงได้เริ่มมีการปรับให้มีการสอบรวบยอดเพื่อเลื่อนชั้นทุกปี 

  • ในปีการศึกษา 2545 โรงเรียนได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรตามการเปลี่ยนแปลงของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544
    โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงชั้น ทั้งนี้ทางโรงเรียนได้มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียน โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
    และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่วนการวัดและประเมินผลทางโรงเรียนได้ยึดตามแนวทางของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544
  • ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนได้มีการจัดโครงการหลักสูตรทางเลือกคู่ขนานในระดับชั้นยูนิทดี ควบคู่ไปกับหลักสูตรปกติ ชื่อว่า “โครงการส่งเสริมศักยภาพทางด้านภาษาต่างประเทศ” โดยมีจำนวนชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษมากกว่าหลักสูตรปกติ และเรียนกับชาวต่างประเทศ ในปีการศึกษา 2552 ได้จัดการเรียนการสอนเพิ่มในระดับชั้นยูนิทเอ และครบทุกชั้นในปีการศึกษา 2554
  • ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนได้เป็นโรงเรียนนำร่องในการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตั้งแต่ระดับชั้น ยูนิทเอ–ยูนิทเอฟ และใช้หลักสูตรนี้จนถึงปัจจุบัน
  • ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนภาษาจีนเป็นหลักสูตรเพิ่มเติมในทุกระดับชั้น
  • ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรรายวิชาญี่ปุ่นศึกษาในระดับชั้นยูนิทดี – ยูนิทเอฟ เป็นรายวิชาภาษาญี่ปุ่นซึ่งเป็นรายวิชาเพิ่มเติมเช่นกัน

ต่อมาโรงเรียนใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 ปัจจุบันโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สร้างนวัตกรที่มีความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ยังยึดมั่นในหลักการสำคัญในการจัดการเรียนการสอนที่มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง 

สัญลักษณ์ สี คำขวัญ

สัญลักษณ์ คือ ตราพระธาตุพนม (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาสัยขอนแก่น)

สีประจำโรงเรียน คือ สีเทา (Gray)

คำขวัญโรงเรียน คือ “คุณธรรมนำปัญญา มีพลานามัย วินัยมั่นคง ตำรงสังคมประชาธิปไตย ใฝหาความรู้ มุ่งสู่สากล”

มาร์ชสาธิต

คำร้อง : อ.เจนวิทย์ พิทักษ์

เรียบเรียงเสียงประสาน : นพ.ภัทรวุฒิ วัฒนศัพท์

มาพวกเราร่วมรักสามัคคี

ให้ชื่อเสียงก้องนามและสดใส

ให้พวกเราเลือดสีเทาจงมาร่วมกัน

เพื่อชื่อเสียงสีเทาเราคงไว้

ยามเราจากไกล…ฝากใจไว้มั่น

เลือดสาธิตรักมั่นหาใดเหมือน

มาพวกเราร่วมรักสามัคคี

ให้ชื่อเสียงก้องนามและสดใส

ให้พวกเราเลือดสีเทาจงมาร่วมกัน

เพื่อชื่อเสียงสีเทาเราคงไว้

ยามเราจากไกล…ฝากใจไว้มั่น

เลือดสาธิตรักมั่นหาใดเหมือน